เสาเข็มสปันไมโครไพล์สำหรับงานต่อเติมอาคาร แก้ไขบ้านทรุด งานเสริมฐานราก
เสาเข็มสปันไมโครไพล์สำหรับงานต่อเติมอาคารและเสริมฐานราก
โดยวิถีชีวิตแบบไทยๆ ซึ่งคาดว่าน่าจะเกินกว่า 50% ของคนที่ซื้อบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว หรือ Town house เมื่อซื้อบ้านและเข้าไปอยู่อาศัยได้สักระยะเวลาหนึ่ง ก็มักจะรู้สึกว่าบ้านที่ซื้อไปมีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอกับความต้องการ หรือมีรูปแบบที่ยังไม่สวยสมใจ โดยมีเหตุปัจจัยมาจากหลายๆ สาเหตุด้วยกัน เช่น มีสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น มีกำลังทรัพย์เพิ่มมากขึ้น หรือซื้อรถยนต์คันใหม่ เป็นต้น ดังนั้น ผลที่ตามมาก็คือ ต้องมีการต่อเติมดัดแปลงตัวบ้านให้ตรงกับความต้องการของตน
การต่อเติมบ้านนั้น เกือบร้อยละร้อย ก็จะอาศัยความรู้ความชำนาญจากผู้รับเหมาประจำหมู่บ้าน หรือผู้รับเหมาที่เพื่อนฝูงแนะนำกันมา มีน้อยรายที่จะปรึกษาหรือใช้บริการของวิศวกรมืออาชีพ ผลที่ตามมาก็คือ อาคารที่ต่อเติมเข้ากับตัวบ้านในภายหลัง มักจะไม่ค่อยจะสามัคคีสมานฉันท์กับตัวบ้านเดิม มักจะทรุดตัว แตกแยกออกจากกันในระยะเวลาไม่กี่ปี ในบางรายพอสร้างเสร็จปุ๊บก็แยกจากกันเลยก็มี ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็คือ อาคารเดิมกับอาคารใหม่ที่เพิ่งจะต่อเติมมีการทรุดตัวไม่เท่ากัน หรือที่เรียกกันว่า ทรุดตัวต่างระดับกัน อาคารเดิมใช้เสาเข็มที่ถูกออกแบบโดยวิศวกร มีขนาดและความยาวของเสาเข็มที่เหมาะสมกับน้ำหนักบรรทุก ถูกต้องตามหลักวิชาการ การทรุดตัวมีน้อย แต่อาคารใหม่ที่ต่อเติมใหม่ มักจะนิยมใช้เสาเข็มขนาดเล็กๆ สั้นๆ เนื่องจากขนาดจำกัดของพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถขนปั้นจั่น และเสาเข็มยาวๆ เข้าไปตอกได้ ผู้รับเหมาไม่มีทางเลือก จึงจำเป็นจะต้องใช้เสาเข็มขนาดเล็กรูปหน้าตัดหกเหลี่ยม ที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป เนื่องจากมีขนาดพอเหมาะที่จะขนย้ายจากหน้าบ้านไปข้างๆ หรือหลังบ้านได้โดยใช้แรงคน เวลาตอกหรือติดตั้งก็ใช้คนขย่มเอา หรือไม่ก็ใช้ตุ้มตอกแบบสามเกลอ ซึ่งขนาดยาวสุดเท่าที่จะสามารถทำงานได้ ก็ไม่น่าจะเกิน 5-6 เมตร และเพื่อให้รู้สึกมั่นใจยิ่งขึ้น ผู้รับเหมาก็มักจะบอกว่าหลุมหนึ่งๆ ใช้เสาเข็มหลายๆ ต้นช่วยกันรับน้ำหนักก็แล้วกัน แค่นี้ก็พออยู่แล้ว
(ขอบคุณรูปภาพจากอินเตอร์เนต)
เมื่อปรับตัวเข้าสู่สมดุล ผลก็คือเสาเข็มที่จมอยู่ในชั้นนี้ ก็จะทรุดตัวลงไปด้วย แต่เสาเข็มเดิมๆของตัวบ้าน ซึ่งมักจะยาวกว่าจะทรุดตัวน้อยกว่าหรือหยุดทรุดตัวนานแล้ว ดังนั้นอาคารที่ต่อเติมใหม่ก็จะค่อยฉีกออกจากอาคารเดิมปรากฏให้เห็นเป็นแนวแตกอ้าอย่างชัดเจน วิธีแก้ไขอย่างง่ายๆก็ใช้วิธีโป๊วปูนเข้าไปก็จะอยูได้สักระยะหนึ่ง แล้วก็จะร้าวอีกจนกระทั่งวิบัติ ไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไปแล้วคราวนี้เรามาต่อกันด้วยทางออกและวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องกันบ้าง…
ข้อที่ 1 วางแผนไว้ก่อนตั้งแต่ตอนสร้างบ้าน ถ้ายังไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะต่อเติมในตอนนั้นได้ ก็ตอกเสาเข็มไว้ก่อน แต่มีน้อยรายที่จะทำเช่นนี้ได้ เพราะตอนที่ซื้อบ้านนั้น แค่หาเงินดาวน์กับพยายามกู้แบงค์ให้ผ่านก็จะแย่อยู่แล้ว จะมีความคิดอะไรได้มากกว่านี้
ข้อที่ 2 ไม่ต้องต่อเติมเลย มีแค่ไหนเอาแค่นั้น หรือถ้าจะต่อเติมโดยใช้เสาเข็มสั้นๆ ให้แยกขาดจากตัวบ้านเดิม และควรจะต่อเติมเพียงชั้นเดียวเท่านั้น
ข้อที่ 3 ใช้เสาเข็มสำหรับส่วนที่จะต่อเติม ให้มีความยาวหรือความลึกปลายเสาเข็มเท่าๆ กับอาคารเดิม
(ขอบคุณภาพจาก SCG)
วิธีการของข้อที่1 เราจะไม่พูดซ้ำแต่จะมาพิจารณาวิธีการตามข้อที่ 2 และข้อที่ 3 กล่าวคือข้อที่ 2 สำหรับบางท่านอาจจะเหมาะสมเพียงพอ แต่สำหรับบางท่านอาจจะมีความต้องการมากกว่านั้น คือต้องการต่อเติมชั้นที่สองด้วย ซึ่งแน่นอนผลที่ตามมาก็คือ การทรุดตัวต่างระดับ และส่วนที่ต่อเติมจะฉีกแยกจากตัวอาคารเดิม
ส่วนข้อที่ 3 นั้น น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ปัญหาก็คือส่วนที่จะต้องทำการต่อเติมนั้นมักจะคับแคบ มีพื้นที่ไม่มากนัก การขนย้ายปั้นจั่นหรือเสาเข็มยาวๆ เข้าไป แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ ปัจจุบันสำหรับบางท่านที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณ การก่อสร้างนัก ก็มักจะใช้เสาเข็มเหล็กกลม Æ6”-Æ 8” โดยตัดเป็นท่อนสั้นๆ ใช้ปั้นจั่นขนาดเล็ก ตุ้มน้ำหนักไม่เกิน 1 ตัน ตอกลงไปโดยการต่อเชื่อมทีละท่อนจนกว่าจะถึงความลึกที่ต้องการ จากนั้นก็กรอกคอนกรีตลงไปในรูท่อเหล็กจนเต็ม อีกวิธีหนึ่งก็คือ การใช้เสาเข็มเจาะแบบแห้ง (Dry process) ผลที่ได้ก็คือ อาคารที่ต่อเติมใหม่จะมีการทรุดตัวน้อยลง อาการแตกร้าวระหว่างอาคารใหม่กับอาคารเก่าก็จะน้อยลง หรือแทบจะไม่มีเลย แต่ทั้งสองวิธีการก็ยังมีข้อเสียอยู่คือ เสาเข็มเหล็กมีราคาค่อนข้างแพง และมีแนวโน้มจะแพงขึ้นเรื่อยๆ ตามราคาเหล็กในตลาด ทำให้เจ้าของบ้านที่มีงบประมาณจำกัด ลังเลที่จะใช้เสาเข็มแบบนี้ ส่วนเสาเข็มเจาะแบบแห้ง ในขั้นตอนทำงานก็มีข้อเสียคือ เสียงดัง, สกปรก และราคาก็ค่อนข้างแพงอยู่ดี ถ้าเราต้องการใช้เสาเข็มเพียงจำนวนน้อยๆ
เมื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาต่างๆ ในการต่อเติมบ้าน ข้อดีข้อด้อยของเสาเข็มแบบต่างๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน ของบริษัท สยาม ไมโคร ไพล์ จำกัด จึงได้ค้นคิดหาเสาเข็มรูปแบบใหม่ๆ ที่จะมาทดแทน โดยมีวัตถุประสงค์ว่า จะต้องมีความแข็งแรงไม่น้อยกว่าเสาเข็มเหล็ก ติดตั้งได้สะดวกรวดเร็ว มีคุณภาพที่ใช้วางใจได้ สามารถตอกลงไปในดินให้ลึกๆ เท่าที่ต้องการ สร้างมลภาวะในขณะทำงานให้น้อยที่สุด
ผลจากการทดลองเป็นระยะเวลากว่าปี ก็ได้ผลิตภัณฑ์เสาเข็มที่บริษัทฯ มีความภาคภูมิใจมากเพราะเราคิดค้นเสาเข็มระบบนี้เป็นเจ้าแรก เป็นเสาเข็มสปันคอนกรีตที่สามารถที่จะสนองตอบความต้องการของงานต่อเติมได้ทุกรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ของเราคือ เสาเข็มสปันไมโครไพล์ ซึ่งมีขบวนการผลิตที่มีมาตรฐานในระดับเดียวกันกับเสาเข็มสปันขนาดใหญ่ มีคุณภาพสูงจนได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมาย มอก.397-2524 ใบอนุญาตเลขที่ 749-1/397 จากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เป็นรายแรกในประเทศไทย…..
สปันไมโครไพล์ คืออะไร?
หลายท่านอาจจะคุ้นเคย หรือได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเสาเข็มสปันคอนกรีตไพล์ขนาดใหญ่มาแล้ว เพราะเป็นเสาเข็มคุณภาพสูงที่นิยมใช้กันแพร่หลายในโครงการขนาดใหญ่ในปัจจุบัน แต่อาจจะไม่คุ้นเคยเกี่ยวกับเสาเข็ม สปันไมโครไพล์ ว่าคืออะไร เสาเข็มสปัน Micropile ก็คือ เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กรูปหน้าตัดกลมกลวง ขึ้นรูปและทำให้แน่นโดยใช้แรงเหวี่ยง (Centrifugal force) ซึ่ง ณ ที่รอบการหมุนสูงสุด แรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นจะมากกว่า 30 เท่าของแรงโน้มถ่วงโลก (30G)
ดังนั้น จึงได้คอนกรีตที่มีความหนาแน่นสูงมาก กำลังอัดประลัยของคอนกรีตจะมากกว่าการทำให้แน่นด้วยวิธีปรกติถึง 20-30 % ทำให้เสาเข็มแบบนี้รับน้ำหนักบรรทุกได้สูงมาก เมื่อเปรียบกับขนาดหน้าตัดเสาเข็มแบบอื่นๆ โดยทั่วไป เสาเข็มสปัน Micropile จะถูกผลิตออกมาเป็นท่อนสั้นๆ ความยาวเพียง 1.00 – 1.50 เมตร เพื่อให้สะดวกต่อการขนย้ายด้วยแรงคน เสาเข็มแต่ละท่อนจะมีแผ่นเหล็กสำหรับต่อเชื่อม (End plate) ที่ปลายทั้งสองด้าน ทำให้สามารถเชื่อมต่อกันจนได้ความยาวที่ต้องการ ความแข็งแรงของรอยต่อเชื่อมนี้ จากผลการทดสอบ สามารถรับแรงดัดได้มากกว่า 1 ตัน-เมตร
ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ฯ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 200 มิลลิเมตร มีขนาดความยาว 1.50 เมตร สำหรับงานต่อเติมอาคารงานปรับปรุงรากฐานอาคารทั่วไป และความยาว 1.00 เมตร สำหรับงานแก้ไขปัญหาอาคารทรุด,เอียงเนื่องจากมีน้ำหนักเบากว่า เหมาะสำหรับการทำงานในที่แคบสามารถยกหรือขนย้าย โดยใช้แรงงานเพียง 2 คน
จากการใช้เทคนิคการผลิตที่มีมาตรฐานระดับเดียวกันกับเสาเข็มสปันขนาดใหญ่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้ จึงมีคุณภาพสูงจนได้รับความไว้วางใจจากผู้รับเหมาต่างชาติขนาดใหญ่ หลายบริษัทให้เราเป็นผู้ผลิตและติดตั้ง เสาเข็มสปัน Micropile ในส่วนต่อเติมและปรับปรุงโรงงานหลายโครงการ ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งผลงานที่ผ่านมาสร้างความพึงพอใจให้กับลุกค้าเป็นอย่างยิ่ง จนเรียกใช้บริการของเราทุกครั้งทีมีงานในลักษณะเดียวกัน